''ร่าง''พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลองศึกษากันดู

ประเทศไทยเรากำลังจะมีพรบ.ที่ควบคุมการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์แล้วนะครับ พอใช้จริงอาจมีเปลี่ยนแปลงในบางข้อ ลองศึกษากันไว้ก่อน เผื่อว่าถ้ามีการประกาศใช้แล้วจะได้ไม่เผอเรอไปทำอะไรเข้าข่ายการกระทำผิด





ร่างพรบ.ฉบับนี้ เสนอต่อสภานิติบัญญัติไปเมื่อวันที่ 15 พย. 2549





หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



เหตุผล

เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร อันก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมตลอดทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้





ร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



พ.ศ. ....







----------------------------------------------------------------------------------------------------




โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ..........................................................................................................

.................................................................

มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....”



มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



มาตรา ๓

ในพระราชบัญญัตินี้



“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดชุดคำสั่งและแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ



“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ หรือชุดคำสั่ง บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้



“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น



“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า

(๑) ผู้ซึ่งให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น ทั้งนี้โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

(๒) ผู้ซึ่งให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลตาม (๑)



“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



มาตรา ๔

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้



กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้











หมวด ๑



ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


-----------------------







มาตรา ๕

ผู้ใดเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ



ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้



มาตรา ๖

ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๗

ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้



มาตรา ๘

ผู้ใดกระทำด้วยประการใดด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งเฉพาะของเจ้าของข้อมูลคอมพิวเตอร์



มาตรา ๙

ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ



ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้



มาตรา ๑๐

ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๑

ถ้าการกระทำตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐



(๑) ก่อให้เกิดผลอันเป็นความเสียหายแก่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลทั่วไปไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ



(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท



ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตของประชาชน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี



มาตรา ๑๒

ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๓

ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ดังต่อไปนี้



(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าข้อมูลคอมพิว เตอร์นั้นเป็นของบุคคลที่สามหรือจัดทำโดยบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลที่สามนั้นหรือประชาชนเสียหาย



(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน



(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้



(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันมีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้



(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (๑)(๒)(๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ถ้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันลามกตาม (๔) เป็นภาพของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๔

ผู้ให้บริการผู้ใดรู้ถึงการกระทำตามมาตรา ๑๓ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน และมิได้จัดการลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นในทันที ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๓



มาตรา ๑๕

ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้



ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย











หมวด ๒



พนักงานเจ้าหน้าที่


-----------------------



มาตรา ๑๖

ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้



(๑) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าว ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการหาตัวผู้กระทำความผิด



(๒) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้



(๓) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดในกรณีจำเป็นจะสั่งบุคคลนั้นให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้



(๔) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับ



(๕) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเนื้อหาของข้อมูลที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน



(๖) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๔ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการ ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่



(๗) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้



(๘) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้



มาตรา ๑๗

การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๖(๗) หนักงานเจ้าหน้าที่ต้องทำหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้โดยจะยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน



หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดไว้ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง



มาตรา ๑๘

การใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ ให้พนักงานจ้าหน้าที่ดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้



การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม[b]มาตรา ๑๖ (๒)
ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น



เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๖(๓) หรือ (๕) แล้ว ต้องบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการ แล้วให้รายงานต่อศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลจะสั่งระงับการดำเนินการนั้นก็ได้



มาตรา ๑๙

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลาย หรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งดังกล่าวก็ได้



ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้นตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา



มาตรา ๒๐

ห้ามมิให้พนักงานจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ ให้แก่บุคคลใด



ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดี



ในกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจบุคคลใดในการเรียกเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น และมิใช่เป็นกรณีตามวรรคสอง ห้ามมิให้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับข้อมูลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรตา ๑๖ และกับพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี



พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้อระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๑

พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใด กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๒

ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๖ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อบุคคลที่สาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๓

ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ได้มาเนื่องจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการใดๆ อันเป็นโทษแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลดังกล่าวไม่ได้



มาตรา ๒๔

ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินสามสิบวันแต่ไม่เกินเก้าสิบวันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้



ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีสัญญาหรือข้อตกลงในการให้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องเก็บสัญญาหรือข้อตกลงนั้นไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นอายุ



ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท



มาตรา ๒๕

ผู้ใดขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามมาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง



ถ้าผู้ถูกสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่งไม่ยอมชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม



เมื่อผู้ถูกสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองแล้ว ให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ



มาตรา ๒๖

การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และผ่านการอบรมหลักสูตรตามที่รัฐมนตรีกำหนด



มาตรา ๒๗

ในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา



มาตรา ๒๘

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนด เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา



ในการจับ ควบคุม ค้น สอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการได้เฉพาะตามที่ได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้



ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติละรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง









ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ









..........................................









นายกรัฐมนตรี







ที่มา : Nectec Wiki



Edit

- แก้ เผลอเรอ -> เผอเรอ
Announce Archive

ร่วมแสดงความเห็น

ติดต่อเรา